วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

การทาบกิ่ง

การติดตา


เป็นการต่อต้นพืชแบบหนึ่งที่ใช้กิ่งพันธุ์ดีเพียงตาเดียว พอจะแบ่งวิธีติดตาโดยเฉพาะวิธีที่ใช้กันทั่วๆ ไปได้ ๓ วิธี คือ



๑. การติดตาแบบตัวที (T. budding)

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาต้นพืชแบบ ตัวที

๑. ต้นตอจะต้องมีเปลือกล่อนสามารถลอกเปลือกต้นตอได้ง่าย

๒. ต้นตอไม่ควรมีขนาดโตเกินไป ควรจะมีขนาดเท่าดินสอดำหรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณไม่เกิน ๑/๒ นิ้ว

๓. ไม่เป็นพืชที่มีเปลือกบาง หรือเปลือกเปราะ หรือมีเปลือกหนาเกินไป

๔. เป็นวิธีที่ใช้ในการติดตาต้นพืชทั่วๆ ไปเช่น ใช้กับกุหลาบ พุทรา ส้ม เป็นต้น

วิธีติดตาแบบตัวที

ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ

๑. เลือกต้นตอบริเวณที่เป็นปล้องแล้วกรีดเปลือกให้ถึงเนื้อไม้เป็นรูปตัวที (T) โดยให้หัวของตัวทีที่กรีดยาวประมาณ ๑/๒ นิ้ว และความยาวของตัวทียาว ๑ - ๑ ๑/๒ นิ้ว ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของต้นตอ

๒. ใช้ปลายมีดแงะบริเวณหัวตัวทีให้เปลือกเผยอเล็กน้อย แล้วล่อนเปลือกของต้นตอด้วยปลายเขาที่ติดอยู่ที่ด้ามมีด

ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี

๑. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปโล่ให้ติดเนื้อไม้เล็กน้อย ในกรณีที่พืชนั้นมียางควรจะลอกเนื้อไม้ทิ้งเพื่อให้มีบริเวณของการเกิดรอยต่อมากขึ้น

ค. การสอดกิ่งพันธุ์ดีบนต้นตอ

๑. สอดแผ่นตาลงบนแผลรูปตัวทีที่เตรียมไว้ แล้วค่อยๆ กดแผ่นตาลงไปในแผลให้สนิท และลึกราว ๑/๒ นิ้ว เหนือตา

๒. ถ้าเปลือกแผ่นตายังเหลือเลยหัวตัวทีให้ตัดส่วนที่เหลือออกพอดีกับหัวตัวที

๓. ใช้ผ้าพลาสติกที่ตัดเป็นชิ้นขนาดกว้าง๑-๑.๕ ซม. ยาวราว ๒๐-๒๕ ซม. พันทับแผ่นตาให้แน่น และควรพันจากข้างล่างขึ้นข้างบน

๔. หลังจาก ๑๐ วัน จึงตรวจ ถ้าตาใดยังสดก็แสดงว่าติด จึงเปิดผ้าพันตาแล้วพันใหม่ให้คร่อมตา



๒. การติดตาแบบชิพ (chip budding)

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาแบบชิพก็คือ

๑. เป็นวิธีที่ใช้ในการติดตาต้นพืชที่ลอกเปลือกไม่ได้ เป็นพืชที่มีเปลือกบางหรือเปลือกหนาหรืออยู่ในระยะพักตัว

๒. มักใช้กับพืชที่ไม่มียาง และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นตอประมาณ ๒/๓ - ๑/๒ นิ้ว

๓. มักใช้ในการติดตา องุ่น ชบา ฯลฯ

วิธีติดตา ปฏิบัติดังนี้ (modified chip)

ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ

๑. เลือกต้นตอที่เปลือกติด หรือที่ชะงักการเจริญ

๒. เฉือนต้นตอเฉียงลงให้เข้าเนื้อไม้เล็กน้อย และยาวประมาณ ๑ นิ้ว

๓. เฉือนตัดขวางให้จดโคนแผลที่เฉือนครั้งแรก โดยให้รอยเฉือนนี้ทำมุม ๔๕° กับลำต้นแล้วแกะชิ้นส่วนของพืชที่เฉือนออก

ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี

เฉือนแผ่นตาบนกิ่งพันธุ์ดีให้มีความยาวเท่ากับรอยแผลที่เตรียมบนต้นตอ โดยกะให้ตาอยู่ตรง

กลางพอดี

ค. การสอดแผ่นตา

๑. ประกบแผ่นตาบนต้นตอ โดยให้เยื่อเจริญด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้านสัมผัสกับเยื่อเจริญของต้นตอ

๒. ใช้ผ้าพลาสติกพันตา เช่นเดียวกับการติดตาแบบตัวที



๓. การติดตาแบบเพลท (Plate budding)

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาแบบเพลท คือ

๑. มักใช้กับต้นตอที่มีขนาดโต คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑/๒ - ๑ นิ้ว

๒. ต้นตอต้องลอกเปลือกได้หรือมีเปลือกล่อน

๓. เป็นพืชที่มีเปลือกหนาและเหนียวพอสมควร

๔. นิยมใช้กับพืชมียาง เช่น มะม่วง ขนุนยางพารา หรือพืชบางชนิดที่เกิดเนื้อเยื่อช้า เช่นมะขามหรือน้อยหน่า เป็นต้น

วิธีติดตาแบบเพลท

ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ

๑. เลือกต้นตอบริเวณที่จะทำแผลให้เป็นปล้องที่เรียบและตรง

๒. กรีดเปลือกต้นตอถึงเนื้อไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานเปิดดังภาพ

๓. เผยอเปลือกต้นตอออกจากเนื้อไม้ ทางด้านบนหรือด้านล่างของรอยกรีด แล้วลอกเปลือก ขึ้นหรือลงตามรอยกรีดที่เตรียมไว้แล้ว

ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี

เฉือนแผ่นตากิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปโล่ ยาวประมาณ ๑ นิ้ว แล้วแกะเนื้อไม้ออก

ค. การสอดแผ่นตาบนแผลของต้นตอ

๑. ประกบแผ่นตาลงบนแผลของต้นตอ จัดแผ่นตาให้อยู่กลางแผลแล้วประกบแผ่นเปลือกของต้นตอทับแผ่นตา แต่ถ้าใช้ตาอ่อนจะต้องตัดแผ่นเปลือกต้นตอตอนบนออก ๓ ส่วนเหลือไว้ ๑ ส่วน

๒. พันผ้าพลาสติกเช่นเดียวกับการติดตาแบบตัวทีหรือแบบชิพ และต้องใช้พลาสติกใส เมื่อใช้ตาอ่อน



[กลับหัวข้อหลัก]



แผ่นตาที่ติดเรียบร้อยแล้ว











เฉือนแผ่นตาในกิ่งพันธุ์ดี











สอดแผ่นตาบนแผลต้นตอ










เฉือนกิ่งพันธุ์ดี









ประกบแผ่นตาลงบนแผลของต้นตอ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น